ประวัติความเป็นมาจังหวัดร้อยเอ็ด

ประวัติความเป็นมาจังหวัดร้อยเอ็ด

เมืองร้อยเอ็ด แต่เดิมเคยเป็นเมืองใหญ่เจริญรุ่งเรืองมาก เรียกว่า เมืองสาเกตุนครหรืออาณาจักรกุลุนฑะนคร มีประตูเข้า 11 ประตู มีเมืองขึ้นทั้งสิ้น 11 เมือง ตามตำนานอุรังคธาตุได้เล่าว่ามีนครใหญ่แห่งหนึ่งชื่ออาณาจักรกุลุนฑะนครมีเมืองหลวงชื่อสาเกตุ เจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่น เจ้าผู้ครองนครชื่อ พระเจ้า“กุลุนฑะ” มีกุศโลบายในการปกครองที่ชาญฉลาดโดยให้ขุดคูน้ำ ทำคันดิน เป็นกำแพงสูงรอบเมืองเจาะช่องทางเข้าเมืองจำนวน 11 ประตู ตามจำนวนเมืองขึ้น 11 เมือง (เดิมเขียน 10,1 หรือ สิบหนึ่ง) กำหนดรหัสเข้าเมืองอย่างรัดกุม เมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้นให้เป่าปี่ซาววา (ปี่ 20 วา) เป็นสัญญาณและใช้ม้าเร็วชื่อ แม่แล แจ้งเหตุนั้นๆ การปกครองมีความร่มเย็นเป็นสุขสืบมาจนถึงสมัยพระเจ้าสรุยวงษาธรรมมิกราช ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากถูกพวกขอมคุกคาม จึงพาไพร่พลอพยพไปอยู่แหล่งใหม่ หัวเมืองขึ้นก็เกิดการกระด้างกระเดื่องจนถึงการวิบัติในที่สุด ปี 2256 พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร เจ้าผู้ครองเมืองจำปาศักดิ์ได้มอบหมายให้อาจารย์แก้วคุมไพร่พลมาสร้างเมืองชื่อว่าเมืองทุ่ง (อำเภอสุวรรณภูมิ) ให้อาจารย์แก้วเป็นเจ้าเมืองขึ้นตรงต่อนครจำปาศักดิ์ เมื่ออาจารย์แก้วถึงแก่กรรม ท้าวมืดบุตรคนโตของอาจารย์แก้วได้เป็นเจ้าเมือง และท้าวทน ผู้น้องชายเป็นอุปราช เมื่อท้าวมืดถึงแก่กรรมท้าวทนได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทน สร้างความไม่พอใจแก่ท้าวเชียงและท้าวศูนย์บุตรชายเท้ามืดเป็นอันมาก ท้าวเชียงกับท้าวศูนย์ได้แต่งเครื่องบรรณาการไปขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระเจ้าเอกทัศน์แห่งกรุงศรีอยุธยา ให้ส่งคนมาเจรจาขอคืนอำนาจจากท้าวทนจนสำเร็จ เมื่อท้าวทนสละตำแหน่งให้แก่หลานทั้งสองก็ได้รวมไพร่พลกลุ่มหนึ่งอพยพมาสร้างเมืองใหม่ที่บริเวณบ้านกุมร้าง หรือเมืองสาเกตุเดิม (เมืองร้อยเอ็ดปัจจุบัน) และมีใบบอกไปยังกรุงธนบุรีขอพระราชทานอนุญาตตั้งบ้านกุมร้างขึ้นเป็นเมืองร้อยเอ็ด เมืองร้อยเอ็ดได้ปกครองตนเองมาด้วยความร่มเย็นเป็นสุข จนกระทั่งปี พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยูหัวโปรดให้จัดการปกครองขึ้นใหม่โดยแบ่งภาคอีสานออกเป็นสองมณฑล คือ มณฑลลาวพวนกับมณฑลลาวกาว ตั้งเมืองร้อยเอ็ดเป็นศูนย์กลางการบริหารภาคอีสานตอนกลางและล่าง ต่อมาในปี พ.ศ. 2453 ได้แยกมณฑลลาวกาวออกเป็นสองมณฑล คือมณฑลอุบลและมณฑลร้อยเอ็ด จนกระทั่งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 มณฑลร้อยเอ็ดจึงถูกเปลี่ยนแปลงมาเป็น จังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน

ภูมิประเทศ ที่ตั้งและอาณาเขต

จังหวัดร้อยเอ็ดตั้งอยู่ตอนกลางของตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ลักษณะภูมิประเทศ   โดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 120-160 เมตร     ระหว่างละติจูดที่ 15 องศา 24 ลิปดาเหนือ ถึง 16 องศา 19 ลิปดาเหนือ และลองจิจูดที่ 103 องศา 16 ลิปดาตะวันออก ถึง 104 องศา 21 ลิปดาตะวันออก อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร โดยทางรถยนต์ประมาณ 512 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งสิ้น 8,299.46 ตางรางกิโลเมตร หรือ 5,187,156 ไร่ มีภูเขาทางตอนเหนือซึ่งติดต่อจากเทือกเขาภูพาน บริเวณตอนกลางของจังหวัด มีลักษณะเป็นที่ราบลูกคลื่น บริเวณตอนล่างมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำมูลและสาขา ได้แก่ ได้แก่ลำน้ำชี ลำน้ำพลับพลา ลำน้ำเตา เป็นต้นบริเวณที่ราบต่ำอันกว้างขวาง เรียกว่าทุ่งกุลาร้องไห้ มีพื้นที่ประมาณ 80,000 ไร่ มีลักษณะเป็นที่ราบแอ่งกระทะ

มีเขตแดนติดต่อ

ทิศเหนือ และตะวันตกเฉียงเหนือ จรดจังหวัดกาฬสินธุ์

ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จรดจังหวัดมุกดาหาร

ทิศตะวันออก จรดจังหวัดยโสธร

ทิศตะวันออกเฉียงใต้ จรด จังหวัดศรีสะเกษ

ทิศใต้ จรดจังหวัดสุรินทร์

ทิศตะวันตก จรดจังหวัดมหาสารคาม