ประวัติการก่อตั้ง


ประวัติการก่อตั้งทุ่งกุลาร้องไห้

            ทุ่งกุลาร้องไห้ ครอบคลุม 5 จังหวัด คือ มหาสารคาม สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ยโสธร และศรีษะเกษ มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะทอดตัวยาวจากตะวันตกไปตะวันออก ยาว 150 กม. ส่วนที่กว้างที่สุดอยู่ในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด 50 กม. มีเนื้อที่ 2.1 ล้านไร่ ประกอบไปด้วยทุ่งขนาดเล็กหลายทุ่ง ติดต่อกัน เช่น ทุ่งหมาหลง ทุ่งประแหล่น ทุ่งหลวง ทึ่งกุลาเป็นแหล่งที่เคยมีความเจริญมีมนุษย์ตั้งถิ่นฐานมามากกว่า 2,500 ปี มีวัฒนธรรมเป็นของชุมชน เรียกว่า “วัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้” หรืออาณาจักรเกลือ 2,500 ปี มีการผลิตเกลือเพื่อขายและมีการถลุงเหล็กใช้ในด้านต่างๆ เป็นที่มาของการค้าทำให้เกิดตำนาน “ทุ่งกุลาร้องไห้”

            อาณาจักรนี้ได้มีการล่มสลายไป ในช่วงต้นสมัยกรุงศรีอยุธยา และกลับมาเป็นที่ตั้งถิ่นฐานเริ่มต้นอีกครั้งในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา โดย เจ้าแก้วมงคล จากนครจำปาศักดิ์ มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงปี พ.ศ.2460 ทุ่งกุลาร้องไห้กลายเป็นทุ่งร้าง ท้องทุ่งมีแต่พงหญ้า ไม้พุ่มขนาดเล็ก จะมีไม้ใหญ่บ้างตามริมน้ำ และบนโคกหรือเนิน ซึ่งเป็นที่ตั้งชุมชน ในฤดูฝนน้ำจะนองท่วมมีลักษณะคล้ายทะเล ในยามแล้งพื้นที่จะแห้งหายไปจนหมด สัตว์ป่าจะอาศัยอยู่ตามป่าโคกและในทุ่งหญ้า ขาดเส้นทางคมนาคมในการติดต่อกัน พื้นที่ดินเค็มกระจายเต็มทุ่งกว้าง มีการต้มเกลือสินเธาว์ไว้ขายแลกสินค้า ปลาเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ มีการปลูกข้าวพื้นเมืองไว้เพื่อการบริโภค สัตว์เลี้ยงที่มีไว้ใช้งาน ได้แก่ วัว ควาย โดยเฉพาะวัวจะเลี้ยงปล่อยทุ่ง

            ไม่ว่าดินแดนนี้จะได้ชื่อในด้านความแห้งแล้งกันการ แต่ในฤดูฝนจะมีน้ำชุ่มอยู่ทั่วไป เกษตรกรที่ยากจนและต้องการพื้นที่เพาะปลูกข้าวอาหารหลักของคนเอเชีย เริ่มมีการอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาจับจอง จนถึงปี 2497 นายวิวัฒน์ พูนศรีสุวรนันท์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นกรรมาธิการงบประมาณ ได้เสนอให้มีการสำรวจและพัฒนาโดยกรมประชาสงเคราะห์เพื่อจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง

            ปี พ.ศ.2514 เริ่มมีการสำรวจดินและวางแผนการใช้ที่ดินโดยกรมพัฒนาที่ดิน กำหนดเขตทุ่งกุลาร้องไห้ จำนวน 2.1 ล้านไร่ และการใช้แผนที่ดิน ได้จัดนำรายการเสนอเมื่อ มกราคม 2518 และนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐบาลมีมติรับหลักการโครงการพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2519 และได้รับอนุมัติงบกลางปีงบประมาณ 2520 จำนวน 5 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งสำนักงานในทุ่งกุลาร้องไห้ มติคณะรัฐบาล เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2520 ให้ใช้งบประมาณ 1 ล้านบาท จัดตั้งสำนักงานในทุ่งกุลาร้องไห้ และต่อการเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2520 คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการจัดตั้งศูนย์โครงการพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้  เพื่อเร่งปรับปรุงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของทุ่งกุลาร้องไห้ โดยเฉพาะทรัพยากรที่ดิน แหล่งน้ำ และป่าไม้ โดยขยายการดำเนินงานให้เพิ่มมากขึ้น  และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน เพื่อป้องกันแก้ไขความเสื่อมโทรมและพัฒนาทรัพยากรให้เกิดศักยภาพในการเพิ่มผลผลิตให้มากที่สุด ซึ่งนายพิศิษฐ สิทฺธิวงศ์ เป็นหัวหน้าศูนย์พัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ (สถานีพัฒนาที่ดินร้อยเอ็ด) คนแรกเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2520 เข้ามาดำเนินการพัฒนาพื้นที่บ้านกู่ ตำบลสระคุ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด มีการเสนอขอรับการช่วยเหลือในทางวิชาการ และงบประมาณจากประเทศออสเตรเลีย ตามที่รัฐบาลได้มีมติให้ไว้แต่ต้น แผนแม่บทโครงการพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้โดยผ่านมติ ครม. เมื่อ 9 ตุลาคม 2522 จนถึงปี 2524 ได้ดำเนินการเข้าสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 มีหน่วยงาน 22 หน่วยงานเข้าร่วมดำเนินการ ได้รับงบประมาณครั้งแรกให้ดำเนินการตามรูปแบบในปีงบประมาณ 2525 มีการบริหารงานในรูปแบบคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ มีผู้อำนวยการโครงการและผู้จัดการโครงการเป็นผู้บริหารงานในพื้นที่ โครงการนี้ได้รับการบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจนถึงฉบับที่ 7 หน่วยงานต่างๆ ไม่สามารถได้รับงบประมาณสนับสนุน เนื่องจากประเทศประสพปัญหาเศรษฐกิจ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 (2545 – 2549) มีมติ ครม. เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2547 ที่จังหวัดนครพนม รับหลักการโครงการผลิตข้าวหอมมะลิมาตรฐานเพื่อการส่งออกในทุ่งกุลาร้องไห้ ที่มีชื่อเสียงเลื่องลือว่าเป็นแหล่งข้าวหอมมะลิของโลก

            จนกระทั่งปี พ.ศ.2527 กรมพัฒนาที่ดิน ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใหม่โดยเปลี่ยนจากศูนย์โครงการพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นสถานีพัฒนาที่ดินร้อยเอ็ด ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 9 หมู่ที่ 21 ตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของกรมพัฒนาที่ดิน  มีเนื้อที่ประมาณ 600 – 0- 57 ไร่

                          สถานีพัฒนาที่ดินร้อยเอ็ด   สังกัด สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 4  จังหวัดอุบลราชธานีกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดิมเป็นที่ทำการศูนย์โครงการพัฒนาที่ดินทุ่งกุลาร้องไห้ที่ตั้ง หมู่ที่ 21 บ้านกู่น้อยพัฒนา ตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2527 กรมพัฒนาที่ดิน ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใหม่ โดยเปลี่ยนจากศูนย์โครงการพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ เป็น สถานีพัฒนาที่ดินร้อยเอ็ด เลขที่ 9 หมู่ที่ 21 บ้านกู่พระโกนา ตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นหน่วยงานของกรมพัฒนาที่ดิน มีเนื้อที่ประมาณ 612-0-53 ไร่